ตู้ปลาพร้อมที่จะลงปลารึยัง
เมื่อเราตั้งตู้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตู้ไม้น้ำ ตู้ปลาทะเล หรือตู้ปลาน้ำจืด เราก็ย่อมต้องอยากให้มีปลามาแหวกว่ายในตู้แสนสวยให้คุ้มตังค์ที่ลงไปและคุ้ม ค่าเหนื่อยที่ยกตู้มา แต่... "เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตู้เราพร้อมที่จะลงปลาแล้ว"
คำตอบหนึ่งที่สำคัญและแต่ตัวชี้ฤกษ์แห่งการนำปลามาใส่ตู้ นั่นคือ "ระบบกรองชีวภาพที่พร้อมทำงาน"
"ระบบกรองชีวภาพคืออะไร"
ระบบกรองชีวภาพคือระบบกรองส่วนที่มีหน้าที่ทำให้ปลาไม่จมขี้ตัวเองตาย!
ขี้ปลา อาหาร และการเน่าเสียของสารอินทรีย์อื่นๆ ในตู้จะทำให้เกิดแอมโมเนีย (NH4) ซึ่งเป็นพิษกับปลา ทำให้ปลาตายได้ โดยในระบบกรองชีวภาพจะมีแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนแอมโมเนีย (NH4) ให้เป็นไนไตรด์ (NO2) ซึ่งก็ยังเป็นพิษกับปลาอยู่ดี ซึ่งก็จะมีแบคที่เรียอีกพวกทำหน้าที่เปลี่ยนไนไตรท์ (NO2) ให้เป็นไนเตรด (NO3) ซึ่งไนเตรด (NO3) จะเป็นพิษกับปลาน้อยมากและยังสามารถเป็นอาหารกับพืชได้
"ระบบกรองชีวภาพ รูปแบบเป็นอย่างไร"
ระบบกรองชีวภาพก็จะอยู่ในถังกรองที่เราเลือกใช้กันนี่แหละ ซึ่งโดยทั่วไปในถังกรองจะแยกเป็นสองส่วนคือ
ส่วน ระบบกรองกายภาพและส่วนระบบกรองชีวภาพ โดยระบบกรองชีวภาพจะเป็นส่วนที่มีวัสดุกรองที่ผลิตจากวัสดุที่มีรูพรุนสูง เพื่อให้แบคทีเรียอาศัยอยู่ได้
"เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ระบบกรองชีวภาพพร้อมใช้งานแล้ว"
ในตอนเริ่มต้น ระบบกรองชีวภาพจะมีเพียงวัสดุกรองซึ่งยังไม่มีแบคทีเรียที่มีประโยชน์เข้าไปอาศัยอยู่
ดังนั้นเราจึงต้องมีการเตรียมระบบกรองชีวภาพให้พร้องใช้งาน โดยทำได้ตามขั้นตอนดังนี้
เริ่มโดยการเต็มน้ำในตู้ปลาของเรา ใส่อาหารปลาลงในตู้ใหม่ (หรือส่งปลาหน่วยกล้าตายให้ลงไปขี้เล่นกันไปก่อน) พร้อมกับเปิดระบบกรองให้ทำงานตามปกติ
เติมผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบคทีเรียสำหรับระบบกรองชีวภาพลงไปในตู้และระบบกรอง ตามคำแนะนำการใช้งานของผลิตภัณฑ์แต่ละตัว
ควรใช้ปั๊มลมเพื่อเติมออกซิเจนให้กับน้ำในตู้ จะช่วยให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น อาจเติมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในตู้เพื่อเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ ให้ทำการทดสอบหาปริมาณแอมโมเนีย (NH4) และปริมาณไนไตรท์ (NO2) จากน้ำในตู้โดย ชุดทดสอบแอมโมเนีย (NH4) และ ชุดทดสอบไนไตรท์ (NO2) ทุก 3 วัน โดยปกติแล้วการทดสอบในช่วงต้นจะพบปริมาณแอมโมเนีย (NH4) สูงขึ้นเรื่อย ซึ่งต่อมาจะถูกแบคทีเรียในระบบกรองเปลี่ยนให้เป็นไนไตรท์ (NO2) ทำให้แอมโมเนีย (NH4) มีปริมาณลดลงกลายเป็นปริมาณไนไตรท์ (NO2) จะเพิ่มสูงขึ้น และในที่สุดค่าทั้งสองจะลดลง
เมื่อทำการทดสอบน้ำใน ตู้จนพบว่าปริมาณแอมโมเนีย (NH4) มีค่าน้อยกว่า 0.3 mg/l และ ปริมาณไนไตรท์ (NO2) มีค่าน้อยกว่า 0.3 mg/l แล้วแสดงว่าระบบกรองชีวภาพของคุณพร้อมแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามควรลงปลาแต่น้อยโดยเว้นระยะการเพิ่มปลาในตู้ เพื่อให้แบคทีเรียในระบบกรองโตทันกับปริมาณของเสียจากตู้ที่มากขึ้น โดยควรทำการทดสอบหาปริมาณแอมโมเนีย (NH4) และไนไตรท์ (NO2) หลังจากที่ลงปลาแล้ว 24 ชม. เพื่อให้แน่ใจว่าระบบกรองสามารถรองรับปริมาณของเสียจากปลาได้ โดยทำการทดสอบไปเรื่อยๆ และพยายามรักษาระดับแอมโมเนีย (NH4) ให้น้อยกว่า 0.5 mg/l และ NO2 ให้น้อยกว่า 0.8 mg/l ถ้าพบระดับแอมโมเนีย (NH4) และไนไตรท์ (NO2) สูงเกินให้เปลี่ยนน้ำออกครั้งละ 30-50% เพื่อลดปริมาณแอมโมเนีย (NH4) และไนไตรท์ (NO2)
"จบ...แต่ยังไม่จบ"
ถึงแม้ระบบกรองชีวภาพของเราจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีของพึ่งระวังเพื่อที่จะรักษาให้มันทำงานให้เราได้เรื่อยๆ ดังนี้
ควรทำการตรวจสอบปริมาณแอมโมเนีย (NH4) และไนไตรท์ (NO2) ให้น้อยกว่า 0.3 mg/l แล้วอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าระบบกรองชีวภาพยังทำงานปกติ โดยอาจตรวจสอบ 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง
ควรหลีกเลี่ยงการปิดระบบกรองเกินกว่า 30 นาที เพราะอาจทำให้แบคทีเรียขาดออกซิเจนและตายได้
หากต้องการล้างกรองชีวภาพ ให้ใช้น้ำเก่าจากในตู้ปลาเท่านั้น และห้ามทำการขัดถูกหรือฉีดน้ำแรงใส่ วัสดุกรอง เพราะจะทำให้แบคทีเรียที่วัสดุกรองหลุดออกไป
ห้ามล้างระบบกรองด้วยน้ำประปาที่มีคลอรีน เพราะจะทำให้แบคทีเรียในระบบกรองชีวภาพตาย
ห้ามใส่ยารักษาโรคปลาที่เป็นยาฆ่าแบคทีเรียลงในตู้ในขณะที่น้ำยังผ่านระบบกรองชีวภาพ
อาจเติมผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบคทีเรียสำหรับระบบกรองชีวภาพลงไปในตู้และระบบกรอง เพื่อรักษาระดับแบคทีเรียในระบบ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้งานของผลิตภัณฑ์แต่ละตัว
|